ทำไมในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารญี่ปุ่นถึงเทขายพันธบัตรอเมริกา

กรกฎาคม 09, 2024

thumbnail

ทำไมในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารญี่ปุ่นถึงเทขายพันธบัตรอเมริกา

 

Key Takeaways

  • ธนาคารญี่ปุ่นเริ่มเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ เพื่อรับรู้การขาดทุน เนื่องจากการถือพันธบัตรนั้นไม่คุ้มค่าอีกต่อไป จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ
  • แรงขายจากธนาคารญี่ปุ่น อาจจะทำให้ Fed ต้องทำนโยบายเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าว นำไปสู่การพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในที่สุด

 

ญี่ปุ่น เจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯ

 

  ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรสหรัฐอเมริกาสูงที่สุด จำนวนกว่า 1.15 ล้านล้านเหรียญ จากสถิติของ International Monetary Fund (IMF) ธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่นอย่างเดียว มีการถือครองกว่า 8.5 แสนล้านเหรียญ

 

Source: https://www.statista.com/statistics/246420/major-foreign-holders-of-us-treasury-debt/

 

  สาเหตุหลักมาจากนโยบายการเงินที่ต่างกันแบบสุดขั้ว โดยญี่ปุ่นมีการดำเนินนโยบาย Yield Curve Control เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน อเมริกามีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเศรษฐกิจลง ผลที่เกิดขึ้น คือ ธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่นได้ทำการ Carry Trade ด้วยการกู้เงินในญี่ปุ่น และนำไปซื้อพันธบัตรของอเมริกา เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น

 

  อย่างไรก็ตาม เมื่อ Fed ทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ธนาคารเหล่านั้นจึงเกิดการขาดทุนในกระดาษ เพราะราคาของพันธบัตรแปรผกผันกับอัตราดอกเบี้ย กลไกดังกล่าว ทำให้ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ในญี่ปุ่นอย่าง Norinchukin ได้มีการเทขายพันธบัตรอเมริกาออกมากว่า 6.3 หมื่นล้านเหรียญ และรับรู้การขาดทุนในที่สุด

 

ทำไมถึงมีการเทขายตอนนี้

 

  ปัจจุบัน มุมมองเรื่องอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะลดลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต ซึ่งจะเป็นผลดีต่อราคาพันธบัตรสหรัฐ แต่เหตุใดธนาคารเหล่านี้จึงถยอยเทขายพันธบัตรออกมา หลังจากที่ทนการขาดทุนมามากกว่า 2 ปี

 

 เหตุผลหลักมาจากการถือพันธบัตรต่างประเทศ ต้องมีการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ แต่ในปัจจุบัน จำนวนเงินที่ต้องใช้เพื่อประกันความเสี่ยงนั้นสูงขึ้นมาก ทำให้ไม่คุ้มค่าที่จะถือพันธบัตรอีกต่อไปแล้ว

 

แนวคิดของ Arthur Hayes กับวิธีรับมือการเทขายพันธบัตร

 

  เนื่องจากการเทขายพันธบัตรโดยตรงในตลาด จะทำให้เกิดการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นทิศทางที่ Fed ไม่ต้องการ แนวคิดของ Arthur Hayes อดีีต CEO ของ BitMEX คือ สหรัฐอเมริกาจะไม่ยอมให้เกิดการเทขายของพันธบัตรอย่างรุนแรง และอาจจะใช้ Foreign and International Monetary Authorities (FIMA) Repo Facility ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถใช้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในเศรษฐกิจ ผ่านการสนับสนุนให้ธนาคารกลางต่างประเทศรับซื้อแรงขายพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์ แล้ว Fed จะรับซื้อคืนในภายหลัง

 

  การใช้เครื่องมือดังกล่าว จะทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และเป็นผลดีต่อตลาดการลงทุนโดยรวม ซึ่งตลาดคริปโตเคอร์เรนซีก็อาจจะเป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกในเวลาต่อมา

 

หมายเหตุ

 

คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง และ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Merkle Capital คือผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานก.ล.ต. บริษัทให้การดูแลและบริหารเงินลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลายโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและการบริหารจัดการ