กุมภาพันธ์ 20, 2025
เมอร์เคิล แคปปิตอล ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำ จัดงานสัมมนา MERKLE MAGNIFICENCE: Potential Unlocked: Investing in Tomorrow's Wealth เชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมแบ่งปันมุมมองและกลยุทธ์การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลที่น่าจับตามองในปี 2025
บริษัท เมอร์เคิล แคปปิตอล จำกัด ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลและได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือกับอนาคตการลงทุน จึงจัดงานสัมมนา MERKLE MAGNIFICENCE: Potential Unlocked: Investing in Tomorrow's Wealth เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญในวงการ
งานสัมมนานี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะให้ข้อมูลในหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ The Future of Wealth: Digital Assets and Their Role in 2025 โดยคุณพีระสิทธิ์ จิวะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เคิล แคปปิตอล จำกัด ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และนำไปสู่การลงทุน ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการถ่ายโอนความมั่งคั่งครั้งยิ่งใหญ่ ส่งผลให้สินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกการเงินมากขึ้น เชื่อว่าภายใน 5 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2573) เจนเนอเรชันมิลเลนเนียลจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือครองความมั่งคั่งรายใหญ่ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้าถึง 5 เท่า ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังส่งผลกระทบต่อรูปแบบการลงทุน
Bitcoin ETF เปิดประตูสู่ยุคใหม่ของสินทรัพย์ดิจิทัล การอนุมัติ Bitcoin ETF โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC) เมื่อเดือนมกราคม 2567 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าถึง Bitcoin ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของ Bitcoin ETF พุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 115 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.89 ล้านล้านบาท) ในปัจจุบัน
จากข้อมูลของ Companiesmarketcap, บิทคอยน์ (Bitcoin) ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก ด้วยมูลค่าตลาดรวมประมาณ 1.912 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (64.77 ล้านล้านบาท) เป็นรองเพียงสินทรัพย์อย่างทองคำ หุ้นของบริษัท Apple (AAPL) หุ้นของบริษัท Nvidia (NVDA) หุ้นของบริษัท Microsoft (MSFT) หุ้นของบริษัท Amazon (AMZN) และหุ้นของบริษัท Google (GOOG) เท่านั้น
ทั้งนี้ ความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้จำกัดอยู่เพียงนักลงทุนรายย่อยอีกต่อไป สถาบันการเงินขนาดใหญ่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดนี้ คำถามสำคัญคือ การเพิ่ม Bitcoin และ Ethereum เข้ามาในพอร์ตโฟลิโอการลงทุนแบบดั้งเดิมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลตอบแทนให้กับพอร์ตโฟลิโอได้อย่างไร
สำหรับโอกาสในประเทศไทยนั้น ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงโอกาสนี้และมีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
อนาคตของสินทรัพย์ดิจิทัลและบทบาทของสินทรัพย์ดิจิทัลในปี 2568 เต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาส ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กฎระเบียบ และนโยบาย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต การตัดสินใจว่าจะ "เสี่ยง" หรือ "เสียโอกาส" อยู่ในมือของนักลงทุนทุกคน
ในหัวข้อ Digital Asset Investment Strategy – Bridging the Gap for All Investors โดย คุณพีรพัฒน์ หาญคงแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด สถานการณ์ปัจจุบันของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในปีนี้กำลังเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับราคา Bitcoin ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 43,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568) นักวิเคราะห์กำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ตลาดจะเข้าสู่ช่วง "Roundtrip" หรือภาวะที่ราคาปรับตัวขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้วกลับลงมาที่จุดเดิมอีกครั้ง
ตลาดปี 2025 เชื่อว่าจะยังไม่มีวิกฤติ สภาพคล่องตลาดโลกโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สินทรัพย์เสี่ยงจะได้ประโยชน์ในระยะยาว แต่ความเสี่ยงในการลงทุนก็จะเพิ่มขึ้น สัญญาณที่ต้องจับตาได้แก่ อัตราส่วนมูลค่าตลาดต่อมูลค่าที่รับรู้ (MVRV): ช่วงที่อัตราส่วน MVRV ต่ำกว่า 1.5 มักถูกมองว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าสะสม Bitcoin เนื่องจากเป็นสัญญาณว่าราคาอาจต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง รวมถึงข้อมูล Realized Cap HODL Wave บ่งชี้ว่านักลงทุนที่ถือ Bitcoin มากกว่า 6 เดือนกำลังเทขาย Bitcoin ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มตลาด และการเติบโตของ Realized Price: สถิติย้อนหลัง 4 ปี แสดงให้เห็นว่า Realized Price มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 61.37% โดย Worst Case MVRV (2.9-3.2) ราคา Bitcoin อยู่ที่ประมาณ 125,000-145,000 ดอลลาร์สหรัฐ Average Case MVRV (3.2-3.5) อยู่ที่ 145,000-180,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ Best Case MVRV (3.5-3.9) อยู่ที่ 180,000-200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่นักลงทุนควรนำมาพิจารณา
กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสม หากปี 2025 เป็นตลาดขาขึ้นเต็มตัว สิ่งสำคัญที่สุดคือการเก็บกำไร นักลงทุนควรพิจารณาช่วงเวลาที่อัตราส่วน MVRV สูงกว่า 3 ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะมีระยะเวลาประมาณ 100 วันให้เก็บกำไร จุดปลอดภัยในการขายคือ ขายตาม Long Term Holder ตลาดอาจจะไปต่อที่จุดสูงสุดใหม่ ซึ่งความเสี่ยงก้จะมีมากกว่า ควรวางแผนการ Cash out ในปีนี้อย่างน้อย 50% สำหรับการลงทุนใน Bitcoin สิ่งที่น่าสนใจคือ Altcoin Season ในครั้งนี้มีความแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ เนื่องจากตลาดมีผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันมากเกินไป ทำให้มี Altcoinจำนวนน้อยมากที่สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างโดดเด่น อย่างไรก็ตาม โอกาสของ Altcoin คือ Roller Coaster หรือ การเก็บสะสม รอพุ่งถึงขีดสุดแล้วเทขาย
ทั้งนี้ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในปี 2025 กำลังเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนหลายประการ นักลงทุนควรจับตาดูสัญญาณต่างๆ อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วน MVRV, Realized Cap HODL Wave หรือการเติบโตของ Realized Price เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ การมาของ Altcoin Season ที่มีความแตกต่างจากครั้งก่อนๆ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนควรพิจารณาอย่างรอบคอบ การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด วางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ และติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด
สำหรับ Economic Landscape: Global Trends and Opportunities in 2025 โดย คุณกวี ชูกิจเกษม ประธานเจ้าหน้าที่ สายการบริหารพอร์ตการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด(มหาชน) มองว่าปี 2025 มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของโลก การทำความเข้าใจแนวโน้มและโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย
แนวโน้มสำคัญที่น่าจับตามองในปี 2025 คือการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินและอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง Economic Landscape อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภทจะยังคงเป็นบวกในระยะยาว
นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ กำลังท้าทายบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงนี้เห็นได้จากการที่กลุ่ม BRICS มีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีควอนตัม ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างลึกซึ้ง
อีกทั้ง เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ควอนตัมและพลังงานหมุนเวียน กำลังเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คอมพิวเตอร์ควอนตัมมีศักยภาพในการปฏิวัติอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การแพทย์ การเงิน และวิทยาศาสตร์ ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนกำลังกลายเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญมากขึ้น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับธุรกิจและนักลงทุน
อีกหนึ่งแนวโน้มที่สำคัญคือการเพิ่มขึ้นของสังคมผู้สูงอายุทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงนี้สร้างความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพและการขาดแคลนแรงงาน อย่างไรก็ตาม สังคมผู้สูงอายุยังสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุได้
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เนื่องจากประเทศไทยมีธุรกิจบริการ ที่ถือเป็นจุดเด่นของประเทศ ทั้งด้านการเงิน การท่องเที่ยว สุขภาพ โลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ ดาต้าเซ็นเตอร์ พลังงานทดแทนการทำความเข้าใจ การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง และการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศไทยเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในอนาคต
หมายเหตุ
คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
Disclaimer