ตลาดกระทิง (Bull Market) และตลาดหมี (Bear Market) คืออะไร

พฤษภาคม 27, 2024

thumbnail

ตลาดกระทิง (Bull Market) และตลาดหมี (Bear Market) คืออะไร

“ช่วงนี้อยู่ในช่วงตลาดกระทิงหวังว่าเหรียญที่ถืออยู่จะหลุดดอยนะ” “ช่วงนี้ตลาดหมีเก็บของหน่อยดีกว่า” ตลาดหมี ตลาดกระทิงคงเป็นคำที่ค่อนข้างคุ้นหูของนักลงทุนจากแวดวงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวงการหุ้นหรือ Cryptocurrency แต่รู้กันหรือไม่ว่าความหมายที่แท้จริงของเจ้าสัตว์ 2 ตัวนี้ที่นำมาเป็นคำเรียกขานแทนสถานะตลาดหมี ตลาดกระทิง คืออะไรและมีที่มาจากอะไร แล้วมีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อราคาของตลาด Cryptocurrency อะไรบ้างที่จะบ่งบอกว่านี่เราอยู่ในช่วงตลาดหมี ตลาดกระทิง 

 

ตลาดกระทิง (Bull Market) และตลาดหมี (Bear Market) คืออะไร

 

ตลาดกระทิง

 

ตลาดกระทิง หรือ Bull run market หมายถึงช่วงเวลาที่นักลงทุนส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อ หรือมีอุปสงค์มากกว่าอุปทาน เป็นช่วงที่ความเชื่อมั่นของตลาดอยู่ในระดับสูง และราคากำลังสูงขึ้น หากช่วงหนึ่งเห็นว่าราคามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นี่อาจเป็นสัญญาณว่านักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มมองโลกในแง่ดีอาจเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดกระทิง หรือ "Bull" เกี่ยวกับราคาที่เพิ่มขึ้นต่อไป และอาจหมายความว่ากำลังถึงจุดเริ่มต้นของตลาดกระทิง เมื่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพิ่มขึ้น กระแสตอบรับเชิงบวกก็จะแสดงให้เห็นชัดขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ที่บ่งชี้ว่าขณะนี้อยู่ในช่วงตลาดกระทิง ได้แก่

  • มูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ความสนใจในสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ข่าวสารเกี่ยวกับตลาดเป็นไปในทางที่ดี
  • ระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่สูงขึ้น
  • นักลงทุนรายใหม่กำลังเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก
  • ราคาแทบไม่ได้ลดลงเมื่อมีข่าวสารเชิงลบปล่อยออกมา
  • ข่าวสารเชิงบวกทำให้ราคาสูงขึ้นอย่างมาก

 

ตลาดหมี

 

ตลาดหมี หรือ Bear Market หมายถึงช่วงเวลาที่อุปทานมีมากกว่าอุปสงค์ ความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำ และราคากำลังลดลง นักลงทุนที่มองโลกในแง่ร้ายจึงเชื่อว่าราคาจะยังคงลดลงต่อไป ซึ่งตรงกันข้ามกับตลาดกระทิง จึงถูกเรียกว่า "หมี" ตลาดหมีอาจซื้อขายได้ยาก โดยเฉพาะกับนักลงทุนที่ไม่มีประสบการณ์ เป็นที่รู้กันว่ายากที่จะคาดการณ์ว่าตลาดหมีจะสิ้นสุดลงเมื่อไรและราคาต่ำสุดจะอยู่ที่เท่าไร เนื่องจากการดีดตัวของราคามักจะช้าและคาดเดาไม่ได้ โดยสถานการณ์ที่บ่งชี้ว่าขณะนี้อยู่ในช่วงตลาดหมี ได้แก่

  • ราคาสูงสุดและราคาต่ำสุดของแต่ละช่วงไม่ห่างกันมาก
  • สื่อให้ความสนใจต่อสกุลเงินดิจิทัลน้อย
  • กิจกรรมออนไลน์ลดลง
  • การถือครอง Stablecoin สูงขึ้น

โดยลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมานอกจากจะเป็นการกำหนดคุณลักษณะของตลาดในแต่ละช่วงว่าอยู่ในช่วงไหนระหว่างตลาดหมี ตลาดกระทิง แล้วยังเป็นแบ่งลักษณะตลาดที่นักลงทุนในในการตัดสินใจในการบริหารจัดการสินทรัพย์ในพอร์ตของตนเองอีกด้วย 

 

“กระทิง” กับ “หมี” มาจากไหน

 

ตลาดกระทิงกับตลาดหมี

 

ตลาดหมี ตลาดกระทิง มีที่มาจากชื่อของสัตว์อย่าง กระทิง และ หมี สัตว์ทั้งสองชนิดนี้ขึ้นชื่อในเรื่องความแข็งแกร่งและคาดเดาไม่ได้ ดังนั้นชื่อของพวกมันจึงถูกใช้เพื่อแสดงถึงความผันผวนของตลาด โดยการเลือกใช้นั้นมาจากพฤติกรรมการโจมตีของพวกมัน เช่น กระทิงมักจะดันเขาขึ้นไปในอากาศ ส่วนหมีจะปัดหัวลง โดยการกระทำเหล่านี้สะท้อนถึงความเคลื่อนไหวของตลาด โดยตลาดกระทิงคืออยู่ในช่วงขาขึ้นและตลาดหมีคืออยู่ในช่วงขาลง 

และอีกสมมติฐานหนึ่งที่ว่ากันว่าเป็นที่มาของการเปรียบเทียบลักษณะของตลาดด้วยสัตว์อย่างกระทิงและหมี เนื่องจากในอดีตเป็นที่รู้กันดีว่าหมีและกระทิงเป็นสัตว์ที่แข็งแกร่งและมีพละกำลังมหาศาล จึงมักมีการนำสัตว์ทั้งสองมาต่อสู้กันเพื่อความบันเทิง โดยในการแข่งขันนั้นทั้งหมีและกระทิงก็สู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย เหมือนกับตลาดที่มักจะต่อสู้กันเพื่อผลกำไร เป็นที่มาของตลาดหมี ตลาดกระทิง

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตลาดคริปโตฯ ในตลาดหมีและตลาดกระทิง

ราคาสกุลเงินดิจิทัลอาจมีความผันผวนอย่างมาก และการคำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงตลาดว่าเป็นตลาดหมี ตลาดกระทิง ทำให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์ถึงสถานการณ์ของตลาดและมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงตลาดมีมากมาย ได้แก่

  • จำนวนโหนด

จำนวนโหนดจะแสดงจำนวนกระเป๋าเงินที่ใช้งานอยู่บนเครือข่าย และจำนวนโหนดช่วยบ่งชี้ถึงความนิยมของแต่ละ Community ดังนั้นจำนวนโหนดที่สูงก็บ่งบอกถึง Community ที่ได้รับความนิยมสูง และจำนวนโหนดที่ต่ำก็บ่งบอกถึงความนิยมที่ต่ำ 

  • Cryptocurrency Exchange

หาก Token ใดมีอยู่บน Cryptocurrency Exchange Platform หลายแห่ง ก็แสดงว่ามีคนสามารถถือครอง Token นี้ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน นักลงทุนที่ต้องการแลกเปลี่ยนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับการแลกเปลี่ยนแต่ละครั้ง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการลงทุนเพิ่มขึ้น

  • ความจำกัดของจำนวน Cryptocurrency

หากมีจำนวน Cryptocurrency จำกัด ราคาของสกุลเงินนั้นจะเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน หาก Cryptocurrency เพิ่มมากขึ้น ราคาก็จะลดลง นอกจากนี้ โครงการ Cryptocurrency บางโครงการยังมีการ 'เผา' เพื่อลดจำนวนเหรียญในปัจจุบันโดยเป็นวิธีที่ใช้ในการควบคุมอุปทาน

  • กฎระเบียบและข้อบังคับ

กฎระเบียบควบคุมวิธีการซื้อขาย Cryptocurrency แต่รัฐบาลยังไม่มีแนวทางในการควบคุม Cryptocurrency ซึ่งทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงและมีความผันผวนเป็นพิเศษ โดยมีการคิดค้นนวัตกรรม เช่น กองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Future) อาจทำให้นักลงทุนเข้าถึงได้มากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าของ Cryptocurrency มากขึ้น กฎระเบียบยังช่วยให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์ราคาของ Cryptocurrency ในอนาคตได้แม่ยำขึ้น 

 

สรุป

ตลาดกระทิง (Bull Market) คือช่วงเวลาที่ราคาเพิ่มขึ้นและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นสูง ในขณะที่ตลาดหมี (Bear Market) คือช่วงเวลาที่ราคาลดลงและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่ำ ใน Cryptocurrency, ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นจำนวนโหนด, การลงทุนใน Exchange, จำนวน Cryptocurrency, และกฎระเบียบที่มีผลต่อการลงทุน

 

หมายเหตุ

คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง และ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Merkle Capital คือผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานก.ล.ต. บริษัทให้การดูแลและบริหารเงินลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลายโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและการบริหารจัดการ