ทำความรู้จักและความสำคัญของสินทรัพย์ดิจิทัลกับการบังคับใช้กฎหมาย

มิถุนายน 27, 2024

thumbnail

พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นกฏหมายรูปแบบหนึ่งที่ถูกร่างและบังคับใช้เพื่อกำหนดกฏเกณฑ์ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยเนื่องจาก ในอดีตที่ผ่านมาได้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือระดมทุนจากประชาชน และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแต่ยังไม่มีกฏหมายที่กำกับดูแลทำให้เกิดความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจและอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนจึงทำให้เกิด พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล


สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) คืออะไร ?


สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) คืออะไร

“Bitcoin” หรือ “คริปโตฯ” ที่ได้ยินกันบ่อย ๆ นั้นเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง ที่เป็นหน่วยอิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่งที่มีมูลค่า สามารถซื้อขาย ส่งต่อ และลงทุนได้ในโลกดิจิทัล โดยทั่วไปสามารถแบ่งประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลได้หลากหลายรูปแบบ ในประเทศไทยได้มีการแบ่งประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีการแบ่งประเภทเป็น คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และ โทเค็นดิจิทัล (Token Digital) ซึ่งโทเค็นดิจิทัลได้มีการแบ่งประเภทย่อยออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ โทเค็นเพื่อการลงทุน (Investment Token) โทเค็นดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token)


คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัล ตามความหมายของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล คือ หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็น สื่อกลางในการเเลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือใช้แลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กำหนด ซึ่งมูลค่าของคริปโตฯ นั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขายเป็นหลัก โดย Bitcoin ถือเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมและใช้เเลกเปลี่ยนมากที่สุดสกุลหนึ่ง


โทเค็นดิจิทัล (Token Digital) หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือสิทธิในการเข้าถึงสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นที่ถูกกำหนดไว้ ดังนั้นมูลค่าของโทเค็นดิจิทัลจะขึ้นอยู่กับมูลค่าของสิทธิที่ถูกกำหนดไว้ว่าจะได้รับ ซึ่งการนำเสนอขายโทเค็นดิจิทัลในประเทศไทยต้องทำผ่านกระบวนการ Initial Coin Offering (ICO) ผ่านผู้ให้บริการ ICO Portal เท่านั้น โดยที่ตามพ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของผู้ให้บริการ ICO ดังนี้


  • ICO (Initial Coin Offering) คือ การระดมทุนที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยเพื่อให้บริษัทที่ต้องการเงินทุนสามารถเสนอขายโทเค็นให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลกที่สนใจ โดยผู้ลงทุนจะนำคริปโตเคอร์เรนซีมาแลกกับโทเค็นที่บริษัทออก
  • ICO Portal คือ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเค็นดิจิทัล ซึ่งได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. มีหน้าที่กลั่นกรอง ICO ที่จะเสนอขายต่อผู้ลงทุนและเป็นช่องทางการเสนอขาย ICO


นอกจากนั้นแล้วเพื่อให้ง่ายต่อการแบ่งประเภทโทเค็นดิจิทัลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลจึงได้มีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่


  • Investment Token หรือ โทเค็นเพื่อการลงทุน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการร่วมลงทุน เช่น สิทธิในส่วนแบ่งรายได้ สิทธิในผลกำไรจากการลงทุน เป็นต้น
  • Utility Token หรือ โทเค็นดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการได้รับสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจง เช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า คูปองในศูนย์อาหาร เป็นต้น


ความเสี่ยงสินทรัพย์ดิจิทัลมีอะไรบ้าง


ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงหลายรูปแบบ โดยบทความนี้จะพามารู้จักความเสี่ยงส่วนใหญ่ที่มักพบเจอในเมื่อเข้าสู่โลกของสินทรัพย์ดิจิทัล


สินทรัพย์ดิจิทัล

  • ความผันผวนของราคา : สินทรัพย์ดิจิทัลมักมีความผันผวนสูง ราคาสามารถขึ้นลงได้อย่างรวดเร็วและยากต่อการคาดการณ์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลากหลายประการ ทั้งเรื่องภาพรวมของเศรษฐกิจและการเมือง
  • ความเสี่ยงทางเทคโนโลยี : สินทรัพย์ดิจิทัลพึ่งพาเทคโนโลยีบล็อกเชนและระบบดิจิทัล หากมีปัญหาทางเทคโนโลยี เช่น การแฮ็กหรือข้อผิดพลาดในซอฟต์แวร์ อาจส่งผลให้สินทรัพย์ดิจิทัลสูญหายหรือไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงปัญหาด้านความรู้ทางด้านเทคโนโลยี(Technology Literacy) ซึ่งเป็นจุดที่ผู้สนใจต้องให้ความสำคัญและหมั่นพัฒนาความรู้อยู่เสมอ
  • ความเสี่ยงทางกฎหมายและการกำกับดูแล : กฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ผู้ลงทุนต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถูกจำกัดหรือห้ามการใช้งาน โดยเฉพาะการใช้บริการผู้ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากหลักเกณฑ์ของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล
  • ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย : การเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลในกระเป๋าเงินดิจิทัล (Wallet) อาจมีความเสี่ยงต่อการถูกแฮ็กหรือสูญหาย หากผู้ใช้งานไม่รักษาความปลอดภัยอย่างเหมาะสม รวมถึงมีพฤติกรรมการใช้งานคอมพิวเตอร์แบบมีความเสี่ยง เช่น เข้าใช้บริการเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ ทำการจดบันทึกหรือเก็บข้อมูล Username และ Password ไว้ในช่องทางที่ไม่ปลอดภัย
  • ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง : ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภท อาจมีสภาพคล่องต่ำ ทำให้การซื้อขายเป็นไปได้ยากและอาจทำให้ไม่สามารถขายสินทรัพย์ได้ในราคาที่ต้องการ โดยเฉพาะโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการแยกศูนย์ซื้อขาย (Exchange) ออกเป็นหลายผู้ให้บริการ ทำให้ส่วนนี้เป็นจุดที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญ
  • ความเสี่ยงจากการฉ้อโกง : มีโครงการที่เป็นการฉ้อโกงหรือมีลักษณะเป็น Ponzi Scheme ที่แอบแฝงอยู่ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ลงทุนต้องระมัดระวังและศึกษาข้อมูลของโครงการอย่างรอบคอบก่อนลงทุน รวมถึงศึกษาข้อมูลของผู้พัฒนา และปัจจัยอื่น ๆ อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน โดยนักลงทุนสามารถเลือกศึกษาจากผู้ออกโทเค็นดิจิทัลที่ทำการระดมทุนผ่าน ICO Portal ที่จะมีหลักเกณฑ์ในการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลสิทธิประโยชน์สาธารณะตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ที่ต้องการให้นักลงทุนมีข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น


การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล


การเติบโตอย่างรวดเร็วของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และโทเค็นดิจิทัล (Token Digital) ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ สำหรับประชาชนทั่วไป ผู้ให้บริการ ผู้กำกับดูแลระบบการเงิน และผู้บังคับใช้กฏหมายทั่วโลกที่ต้องมีการทำความเข้าใจรูปแบบการทำงาน จุดเด่นที่สามารถพัฒนาได้ของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงความเสี่ยงและจุดที่ต้องระวัง เพื่อป้องกันการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในทางที่ผิดอย่างเช่นการ ฟอกเงิน การหลอกลวง และการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ โดยในประเทศไทยได้มีการจัดทำ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล


ก่อนที่จะทำความรู้จัก พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล มาทำความรู้จัก พ.ร.ก. หรือ พระราชกำหนด ว่าคืออะไรแตกต่างจากกฏหมายปกติอย่างไร


พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เป็นกฎหมายรูปแบบหนึ่งซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญวางไว้ว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือ พูดง่าย ๆ ว่าเป็นเครื่องมือในการให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจตรากฎหมายแทนสภา แต่ต้องมีเหตุจำเป็นและฉุกเฉิน


เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561 ในประเทศไทยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอและได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 โดยมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้น ไปหรือเริ่มต้นตั้งแต่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561


เมื่อพูดถึงเหตุผลเบื่องหลังความจำเป็นของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลในการบังคับใช้กฎหมายหลัก ๆ สามารถแบ่งเป็นเหตุผลหลัก ๆ ได้ดังนี้


  • ป้องกันการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย : สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูงในการถูกใช้เพื่อฟอกเงินหรือสนับสนุนการก่อการร้าย เนื่องจากความไม่ระบุชื่อและการทำธุรกรรมที่ไร้พรมแดน รวมถึงสามารถเข้าถึงได้ง่ายทำให้ยากต่อการควบคุมและตรวจสอบโดยตรงจากระบบเครือข่ายส่งผลให้ผู้ให้บริการจำเป็นต้องช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการสอดส่องเผื่อลดปัญหาการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในทางที่ผิด
  • ปกป้องผู้บริโภค : การบังคับใช้กฎหมายช่วยป้องกันการหลอกลวงและการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงป้องกันการทำการตลาดโดยที่อาจจะเกิดการบิดเบือนหรือแจ้งข้อเท็จจริงไม่ครบซึ่งอาจจะทำให้ผู้ใช้บริการเข้าใจผิดและอาจส่งผลกระทบในวงกว้างโดย พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล เปรียบเสมือนแนวทางปฏิบัติที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถให้บริการได้อย่างถูกต้อง
  • เสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาด : การมีกฎระเบียบที่ชัดเจนและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดช่วยให้ผู้ลงทุนมีความมั่นใจในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งความมั่นใจและน่าเชื่อถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจด้านการเงิน เพราะหากมีความผิดพลาดหรือมีจุดที่ควบคุมความเสี่ยงได้ไม่ดีพออาจจะก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างได้


และในหลาย ๆ ประเทศได้พัฒนากฎหมายและข้อบังคับเพื่อจัดการกับสินทรัพย์ดิจิทัลและมีหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องดังนี้


สหรัฐอเมริกา : ในสหรัฐอเมริกา หน่วยงานต่าง ๆ เช่น ก.ล.ต. (Securities and Exchange Commission) และ CFTC (Commodity Futures Trading Commission) มีหน้าที่กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล


  • ก.ล.ต. : กำกับดูแลการเสนอขายโทเค็นที่เป็นหลักทรัพย์ รวมถึงการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดทุน
  • FinCEN: หน่วยงานด้านการเงินที่มีหน้าที่ป้องกันการฟอกเงินและสนับสนุนการก่อการร้าย
  • CFTC : กำกับดูแลตลาดอนุพันธ์และโทเค็นที่ถูกใช้เป็นสินค้าโภคภัณฑ์

สหภาพยุโรป : ในสหภาพยุโรป การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลมักจะเป็นหน้าที่ของ ESMA (European Securities and Markets Authority) และ EBA (European Banking Authority)

  • ESMA : กำกับดูแลการเสนอขายโทเค็นและการซื้อขายในตลาดทุน
  • EBA : เน้นการป้องกันการฟอกเงินและการป้องกันการฉ้อโกงในภาคธนาคารและการเงิน

ในส่วนความท้าทายในการบังคับใช้กฎหมายในโลกสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นจุดสำคัญที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้

  • ความไม่แน่นอนของกฎหมาย : เนื่องจากเทคโนโลยีสินทรัพย์ดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็วและเกิดสินค้าและบริการใหม่อย่างต่อเนื่อง กฎหมายและข้อบังคับมักไม่ทันสมัยและไม่ครอบคลุมทุกด้าน ทำให้ผู้กำกับดูแลในแต่ละประเทศต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์สม่ำเสมอ
  • ความแตกต่างของกฎระเบียบในแต่ละประเทศ : แต่ละประเทศมีกฎหมายและข้อบังคับที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้เกิดความสับสนและความยุ่งยากในการปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไร้พรมแดน (Boderless) รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทไม่ได้มีการกำกับดูแลโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง

นอกเหนือจากการกำกับดูแลผ่านการบังคับใช้กฏหมายแล้วประเทศไทยได้มีการส่งเสริมและพัฒนาการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่หลายโครงการหนึ่งในนั้นคือโครงการ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือ เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ สำหรับโครงการบางขุนพรหม จะทดสอบ Retail CBDC ซึ่งหมายถึงเงินดิจิทัลสำหรับการใช้งานในระดับประชาชนในวงจำกัด โดยประชาชนที่เข้าร่วมทดสอบสามารถใช้ Retail CBDC ในการชำระค่าสินค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการได้


Retail CBDC

ปัจจุบันหลังจากโครงการอินนนท์ที่เป็นรากฐานสำคัญของ CBDC ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการพัฒนาและต่อยอดอยู่ได้มีการต่อยอดออกเป็นโครงการ

  • โครงการ mBridge : การพัฒนา Wholesale CBDC เพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ
  • โครงการ Retail CBDC : การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชน โดยได้มีการจัดทำผลการทดสอบ
    • การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation track) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย
    • การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) ด้านความสามารถในการเขียนโปรแกรม (Programmability) ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดบน Retail CBDC ทำให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ ๆ


โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านผลรายละเอียดและความคืบหน้าการทดสอบโครงการ CBDC ได้ที่เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย


สรุป สินทรัพย์ดิจิทัลถือว่าเป็นการพัฒนาสำคัญในโลกของการเงินที่น่าสนใจ หากผู้ลงทุนสนใจในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลนอกเหนือจาก อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ต้องพิจารณาแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณามากที่สุดอีกหนึ่งอย่างคือความเสี่ยง เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง จึงควรทำความเข้าใจตลาดและข้อมูลของสินทรัพย์ที่สนใจลงทุนให้รอบคอบถี่ถ้วนเสมอ


นอกจากนั้นเพื่อความปลอดภัยในการเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านผู้ให้บริการ ควรเลือกใช้บริการกับผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. และได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล

 

หมายเหตุ

คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง และ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Merkle Capital คือผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานก.ล.ต. บริษัทให้การดูแลและบริหารเงินลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลายโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและการบริหารจัดการ