งบดุลส่วนบุคคลคืออะไร ? รู้จักตัวช่วยในการวางแผนการเงิน

กันยายน 02, 2024

thumbnail

งบดุลส่วนบุคคลคืออะไร ?

 

งบดุลส่วนบุคคลคืออะไร

 

งบดุลส่วนบุคคลหรืองบการเงินส่วนบุคคล (Personal Balance Sheet) คือเอกสารทางการเงินที่แสดงถึงสถานะการเงินของบุคคลในช่วงเวลาหนึ่ง ประกอบไปด้วยสินทรัพย์ (Assets) และหนี้สิน (Liabilities) ของบุคคลนั้น โดยงบดุลส่วนบุคคลจะช่วยให้สามารถดูภาพรวมของความมั่งคั่งและสถานะการเงินของตนเองได้

งบดุลส่วนบุคคลแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักคือ


เปรียบเทียบงบดุล


สินทรัพย์ (Assets)

  • สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) : เช่น เงินสด บัญชีออมทรัพย์ เงินฝากระยะสั้น หุ้น และตราสารหนี้ระยะสั้น
  • สินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets) : เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ที่มีการลงทุน

หนี้สิน (Liabilities)

  • หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) : หนี้ที่ต้องชำระในระยะสั้น เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ต้องชำระภายในหนึ่งปี
  • หนี้สินระยะยาว (Long-term Liabilities) : หนี้ที่มีระยะเวลาชำระนานกว่าหนึ่งปี เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา

 

ผลต่างระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินจะเรียกว่า “มูลค่าสุทธิ (Net Worth)” ซึ่งแสดงถึงทรัพย์สินที่เหลือหลังจากหักหนี้สินออกแล้ว มูลค่าสุทธินี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความมั่งคั่งของบุคคลนั้น

 

มูลค่าสุทธิ (Net Worth) = สินทรัพย์ (Assets) - หนี้สิน (Liabilities)

 

ตัวอย่างเช่นนายสมชายมีสินทรัพย์และหนี้สินดังนี้

สินทรัพย์ (Assets) : เงินสดและเงินฝาก 200,000 บาท บ้านและที่ดิน 3,000,000 บาท รถยนต์ 500,000 บาท เงินลงทุนในหุ้น 100,000 บาท

รวมสินทรัพย์: 3,800,000 บาท

หนี้สิน (Liabilities) : หนี้บัตรเครดิต 50,000 บาท สินเชื่อบ้าน 1,500,000 บาท สินเชื่อรถยนต์ 200,000 บาท

รวมหนี้สิน : 1,750,000 บาท

มูลค่าสุทธิ (Net Worth) : สินทรัพย์ − หนี้สิน = 3,800,000 − 1,750,000 = 2,050,000 บาท

ดังนั้น มูลค่าสุทธิของนายสมชายคือ 2,050,000 บาท

 

องค์ประกอบอื่นของงบดุลส่วนบุคคล

 

องค์ประกอบของงบดุลส่วนบุคคล

 

แต่งบดุลส่วนบุคคลไม่ได้จบแค่เท่านั้น การลงลึกไปยังรายละเอียดเล็กลงไปอีกจะให้ข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ระดับที่สะท้อนพฤติกรรมของผู้ทำงบการเงินส่วนบุคคลได้เลย ซึ่งนอกจากงบดุลส่วนบุคคลแล้ว ยังมีอีก 2 งบที่ต้องทำความรู้จัก นั่นคือ

  • งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Income and Expense Statement)
  • งบประมาณเงินสด (Cash budget)

 

งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Income and Expense Statement)

งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Income and Expense Statement) คือเอกสารที่แสดงรายได้และค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบุคคลในช่วงเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปจะใช้ในการติดตามการเงินและการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ซึ่งช่วยให้บุคคลสามารถดูภาพรวมของการเงินตนเอง และตรวจสอบว่าสามารถเก็บออมได้มากน้อยเพียงใด

 

เงินที่เหลือ = เงินสดที่คาดว่าจะได้รับ – เงินสดที่จะต้องจ่าย

 

องค์ประกอบของงบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล :

1. รายได้ (Income) 

    • รายได้จากงานประจำ (Salary) เช่น เงินเดือน
    • รายได้จากการลงทุน (Investment Income) เช่น รายได้จากการทำกำไร เงินปันผล
    • รายได้จากธุรกิจส่วนตัว (Business Income) เช่น กำไรจากการดำเนินการ
    • รายได้พิเศษ (Other Income) เช่น โบนัส ค่าลิขสิทธิ์ 

2. ค่าใช้จ่าย (Expenses) 

    • ค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Expenses) เช่น ค่าผ่อนบ้านหรือค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์ ค่าประกันภัย
    • ค่าใช้จ่ายผันแปร (Variable Expenses) เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำมันรถ ค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์) ค่าใช้จ่ายบันเทิง
    • ค่าใช้จ่ายไม่ประจำ (Discretionary Expenses) เช่น ค่าเดินทางท่องเที่ยว ค่าซื้อของฟุ่มเฟือย

 

ตัวอย่างงบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล

รายได้ (Income) : 

  • รายได้จากงานประจำ : 50,000 บาท 
  • รายได้จากการลงทุน : 5,000 บาท 
  • รายได้พิเศษ : 3,000 บาท

รวมรายได้: 58,000 บาท

ค่าใช้จ่าย (Expenses) :

  • ค่าใช้จ่ายคงที่ : ค่าผ่อนบ้าน 15,000 บาท ค่าผ่อนรถ 8,000 บาท ค่าประกันภัย 2,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายผันแปร : ค่าอาหาร 10,000 บาท ค่าน้ำมันรถ 3,000 บาท ค่าสาธารณูปโภค 2,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายไม่ประจำ : ค่าเดินทางท่องเที่ยว 5,000 บาท ค่าซื้อของฟุ่มเฟือย 3,000 บาท

รวมค่าใช้จ่าย: 48,000 บาท

คำนวณเงินคงเหลือ : รายได้ − ค่าใช้จ่าย = 58,000 − 48,000 = 10,000 บาท 

ดังนั้น นายสมชายมีเงินคงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายในเดือนนั้นเท่ากับ 10,000 บาท

 

งบประมาณเงินสด (Cash Budget)

งบประมาณเงินสด (Cash Budget) เป็นเครื่องมือในการวางแผนและควบคุมการเงินส่วนบุคคลหรือองค์กรที่ยาวไปถึงอนาคต เป็นการคำนวณเพื่อให้แน่ใจว่ามีเงินสดเพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตหรือการดำเนินธุรกิจในแต่ละช่วงเวลา งบประมาณเงินสดแสดงการคาดการณ์รายรับและรายจ่ายในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น เดือน ไตรมาส หรือปี 

โดยรวมแล้วจะไม่แตกต่างจาก งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Income and Expense Statement) เท่าใด จะแตกต่างที่ งบประมาณเงินสด (Cash Budget) เป็นการประมาณรายรับและรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

 

เงินที่เหลือ = เงินสดที่คาดว่าจะได้รับ – เงินสดที่จะต้องจ่าย

 

การทำงบประมาณเงินสดเหมือนเป็นการวางแผนการเงินในอนาคตของเรา ในระดับรายเดือน รายไตรมาส และรายปี เป็นการวางแผนระยะยาว เช่น หากคำนวนแล้วมีเงินสดเหลือ อาจจะมีการวางแผนการลงทุนเพิ่มเติม ในทางกลับกันหากเงินสดไม่พอ จะได้เตรียมตัดลดค่าใช้จ่ายหรือหาทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการวางแผนงบประมาณเงินสดที่ดีจะทำให้เราสามารถวางแผนอนาคตได้ในระดับพฤติกรรมของเราได้เลย

 

ยกตัวอย่างจากตัวอย่างงบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลด้านบน สมมุติว่าหากคำนวณรายปีแล้ว เขาจะมีเงินเหลือ 10,000 บาท ซึ่งเขาอาจวางแผนนำเงินก้อนนี้ไปทำอะไรต่อได้หรือเก็บไว้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งยิ่งมีเงินเหลือเยอะเท่าใดก็จะมีความยืดหยุ่นเยอะมากเท่านั้น แต่ก็ต้องคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสด้วย เนื่องจากยิ่งเหลือเงินไว้เยอะเท่าใด โอกาสหรือรายได้ที่จะเสียไปจากการนำเงินก้อนนั้นไปลงทุนก็จะมากตามไปด้วย 

 

ประโยชน์ของการทำงบดุลส่วนบุคคล

 

ประโยชน์ของการทำงบดุลส่วนบุคคล

 

การจัดทำงบส่วนบุคคลหรือวางแผนการเงิน ทั้งงบดุล (Personal Balance Sheet) งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Income and Expense Statement) และงบประมาณเงินสด (Cash budget) เป็นประจำจะช่วยให้สามารถติดตามและประเมินสถานะการเงินของตนเองได้ รวมทั้งช่วยในการวางแผนทางการเงินในอนาคต ซึ่งประโยชน์จะมีเยอะมาก หากสามารถจัดการชีวิตให้สอดคล้องกับการเงินที่มีได้ การทำงบดุลส่วนบุคคลมีประโยชน์หลายประการ ดังนี้

  • การมองภาพรวมของสถานะการเงิน ช่วยให้เห็นภาพรวมของสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมด ทำให้ทราบว่าตนเองมีทรัพย์สินและหนี้สินมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะส่งผลต่อไปในประโยชน์ข้ออื่น ๆ โดยเฉพาะการติดตามความก้าวหน้าและการตัดสินใจทางการเงิน การเห็นภาพรวมจะทำให้เราสามารถมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการลงทุน เช่น การนำสินทรัพย์ที่ยังมีอยู่ไปคำ้เพื่อกู้ออกมาเพื่อนำไปลงทุน
  • การวางแผนการเงิน ช่วยในการวางแผนการใช้จ่ายและการลงทุนในอนาคต โดยการดูสถานะการเงินที่เป็นปัจจุบัน เหมือนกับที่คำที่บอกว่า “อุดรอยรั่วของค่าใช้จ่ายด้วยการรู้จักการเงินของตัวเอง”
  • การติดตามความก้าวหน้า ช่วยให้สามารถติดตามความก้าวหน้าทางการเงินและปรับปรุงแผนการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ เช่นการติดตามหนี้สินเพื่อ Refinance เพื่อลดรายจ่ายจากอัตราดอกเบี้ยที่ตำ่ลง หรือกู้จากที่ ๆ ให้อัตราดอกเบี้ยตำ่กว่ามาปิดที่ ๆ สูงกว่า
  • การประเมินความเสี่ยง ช่วยในการประเมินความเสี่ยงและจัดการกับหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นภาพใหญ่และกว้างขึ้น รวมไปถึงความเสี่ยงระยะยาว ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจทางการเงิน
  • การเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ช่วยในการเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การตกงาน การเจ็บป่วย หรือเหตการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นกับตัวเราและครอบครัว แก้ไขโดยการวางแผนสำรอง วางเงินสำรองไว้สำหรับเหตุฉุกเฉินและการประเมินความพร้อมทางการเงินของตัวเอง
  • ช่วยในการตัดสินใจทางการเงิน ช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับการซื้อทรัพย์สินใหม่ การลงทุน หรือการรับหนี้สินใหม่ โดยการดูภาพรวมของการเงินในปัจจุบัน

โดยสรุปการทำงบดุลส่วนบุคคลช่วยมองภาพรวมของสถานะการเงิน วางแผนการเงิน และติดตามความก้าวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังช่วยประเมินความเสี่ยง เตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีข้อมูลครบถ้วน

 

สรุป

การจัดทำงบการเงินส่วนบุคคลช่วยมองภาพรวมของสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ รายจ่าย และกระแสเงินสดทั้งหมด ทำให้สามารถติดตามความก้าวหน้าและการตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยวางแผนการใช้จ่ายและการลงทุนในอนาคต ลดความเสี่ยงและจัดการหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินและช่วยตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีข้อมูลครบถ้วน ช่วยให้แผนการเงินของตนเองสอดคล้องกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างสมดุล

 

หมายเหตุ

คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง และ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Merkle Capital คือผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานก.ล.ต. บริษัทให้การดูแลและบริหารเงินลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลายโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและการบริหารจัดการ