รู้จักกับเงินบำนาญ คิดบำนาญอย่างไร ? จะได้เท่าไหร่ ?

กันยายน 23, 2024

thumbnail

สำหรับคนทำงานโดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการเมื่อใกล้ครบกำหนดอายุราชการจะจำเป็นที่จะต้องเลือกรับสวัสดิการเงินบำนาญ หรือเงินบำเหน็จข้าราชการซึ่งเป็นเหมือนรายได้ที่จะได้ใช้ในยามเกษียณโดยแต่ละแบบก็จะมีข้อดีข้อเสียและเหมาะกับบุคคลแตกต่างกัน

 

เงินบำนาญคืออะไร

 

เงินบำนาญคืออะไร ?

นอกเหนือจากการเป็นข้าราชการในระบบแล้วสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในระบบประกันสังคมก็ยังมีสิทธิที่จะเลือกรับเงินบำนาญหากอยู่ในเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคมโดยจะเรียกว่าเงินชราภาพของประกันสังคม ซึ่งเป็นส่วนที่ถูกสะสมจากการถูกหักค่าประกันสังคมในทุก ๆ เดือนเป็นจำนวนจำนวน 5% ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ตั้งแต่ 250 – 750 บาท โดยใน 5% นี้จะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 : สมทบกองทุนดูแลเรื่อง เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ / ทุพพลภาพ / คลอดบุตร และเสียชีวิต จำนวน 1.5% หรือ 225 บาท ถึงแม้ไม่ใช้สิทธิก็ไม่ได้รับเงินคืน
  • ส่วนที่ 2 : เก็บเป็นเงินออมกรณีสงเคราะห์บุตร / ชราภาพ จำนวน 3 % หรือ 450 บาท จะได้คืนเมื่ออายุครบ 55 ปี
  • ส่วนที่ 3 : ใช้ประกันการว่างงาน จำนวน 0.5 % หรือ 75 บาท ถ้าว่างงานเมื่อไหร่ สามารถใช้สิทธิ์เพื่อเป็นรายได้ระหว่างตกงานหรือกำลังหางานใหม่ หากไม่ใช้สิทธิ์ก็จะไม่ได้รับเงินคืน

เงินทุกเดือนที่เราจ่ายประกันสังคม หากเราจ่ายเงินสมทบในอัตราสูงสุดที่ 750 บาทต่อเดือน เงินจำนวน 450 บาทจะถูกหักเข้าไปเป็นเงินออมชราภาพทันที เปรียบเสมือนกองทุนประกันสังคมช่วยทำหน้าที่เก็บออมเงินให้เรา

 

สาเหตุที่ต้องมีเงินชราภาพก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์จะได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญไว้ใช้ยามชราภาพ ซึ่งเป็นสวัสดิการหลังเกษียณอีกรูปแบบหนึ่ง

 

การวางแผนเงินบำนาญ

 

การวางแผนเงินบำนาญเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการจัดการการเงินในระยะยาว เพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอในวัยเกษียณ การวางแผนที่ดีควรเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อยและมีการปรับเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์และเป้าหมายชีวิตโดยหลักการแล้วสามารถเริ่มต้นวางแผนการเกษียณโดยใช้ประโยชน์จากเงินบำนาญได้ทั้งข้าราชการและพนักงานบริษัทเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคมได้ดังนี้

  • การตั้งเป้าหมายการเงิน (Setting Financial Goals) การตั้งเป้าหมายการเงินในวัยเกษียณเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ ควรกำหนดว่าต้องการมีรายได้ต่อเดือนเท่าไรหลังเกษียณและคำนวณว่าเงินบำนาญที่ต้องการจะเป็นจำนวนเงินเท่าไร นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน
  • การเลือกประเภทของเงินบำนาญ (Choosing the Type of Pension) การเลือกประเภทของเงินบำนาญที่เหมาะสมกับคุณเป็นสิ่งสำคัญ อาจเลือกใช้เงินบำนาญจากรัฐบาล เงินบำนาญจากบริษัท หรือเงินบำนาญส่วนบุคคล หรืออาจใช้หลายประเภทผสมกันเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน การศึกษาและเข้าใจข้อดีและข้อเสียของแต่ละประเภทจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การออมและการลงทุน (Saving and Investing) การออมเงินและการลงทุนเป็นวิธีที่ดีในการต่อยอดจากเงินบำนาญ ควรเริ่มออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อยและทำการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการเติบโตระยะยาว เช่น หุ้น พันธบัตร หรือกองทุนรวม การกระจายการลงทุนจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดี การติดตามและปรับเปลี่ยนการลงทุนตามสภาพเศรษฐกิจและเป้าหมายการเงินของจะช่วยให้แผนการเกษียณและการใช้ชีวิตด้วยเงินบำนาญมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

ที่สำคัญเงินได้หลักเกษียณนั้นไม่ได้มีเพียงแค่บำนาญแต่ยังมีบำเหน็จซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันอย่างมีนัยยะและมีรูปแบบการเตรียมตัวและวางแผนแตกต่างกันโดยเงินบำเหน็จ และเงินบำนาญ สำหรับพนักงานบริษัทที่อยู่ในประกันสังคมมีความแตกต่างกันหลัก ๆ ดังนี้

  • บำเหน็จ คือ เงินชราภาพที่ประกันสังคมจะจ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว 
  • บำนาญ คือ เงินชราภาพที่ประกันสังคมจะจ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต หลังอายุ 55 ปี

 

จริง ๆ แล้ว การจะรับบำเหน็จหรือบำนาญ พนักงานบริษัทที่เป็นผู้ประกันตนไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเลือกรับแบบไหนแตกต่างจากระบบข้าราชการ เพราะว่าประกันสังคมใช้เกณฑ์ระยะเวลาการส่งเงินสมทบเป็นตัวตัดสิน คือ 

  • หากจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับ “เงินบำเหน็จ”
  • ส่วนผู้ที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน (15ปี ) ขึ้นไป จะได้รับ “เงินบำนาญ” ที่ประกันสังคมจ่ายให้เป็นรายเดือนตลอดชีวิต

 

ข้อดี-ข้อเสียของเงินบำนาญมีอะไรบ้าง ?

หากให้สรุปว่าเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญสิ่งไหนดีกว่ากัน การตอบคำถามนี้เป็นเรื่องยากเพราะว่าแต่ละคนมีเงื่อนไข ความต้องการรวมถึงความพร้อมในการเกษียณที่แตกต่างกันหากคนที่มีรายได้หลากหลายทางจากธุรกิจส่วนตัว การลงทุนอยู่แล้วการเลือกบำนาญเพื่อรับกระแสเงินสดระยะยาวอาจเป็นรายได้เสริมที่ช่วยในระยะยาวได้แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนไม่ว่าจะการเริ่มทำธุรกิจหรือลงทุนเพื่อกระแสเงินสดการเลือกบำเหน็จเพื่อรับเงินก้อนอาจเป็นคำตอบที่เหมาะสมมากกว่า สำหรับข้อดีข้อเสียของเงินบำเหน็จและเงินบำนาญสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

 

ข้อดีของเงินบำเหน็จ

  • ได้รับเงินก้อนใหญ่ทันที : การได้รับเงินบำเหน็จหมายความว่าผู้รับเงินจะได้รับเงินก้อนใหญ่ทันทีเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ซึ่งสามารถนำไปใช้ในสิ่งที่ต้องการได้ทันที เช่น การชำระหนี้ การลงทุน หรือการใช้ในโอกาสพิเศษ
  • ความยืดหยุ่นในการใช้จ่าย : ผู้รับเงินบำเหน็จสามารถจัดการเงินตามความต้องการส่วนตัวได้ ไม่ต้องรอรับเงินเป็นงวด ๆ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายตามสถานการณ์
  • การลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น : การได้รับเงินก้อนใหญ่ทันทีเปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวม

 

ข้อเสียของเงินบำเหน็จ

  • ความเสี่ยงในการบริหารเงิน : การได้รับเงินก้อนใหญ่ต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการเงินที่ดี หากไม่มีการวางแผนการใช้จ่ายและการลงทุนที่ดี อาจทำให้เงินหมดไปเร็วและไม่มีรายได้ในอนาคต
  • ขาดความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว : เมื่อเงินก้อนใหญ่ถูกใช้หมด ผู้รับจะไม่มีรายได้ต่อเนื่องในอนาคต ทำให้ขาดความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว ซึ่งอาจเป็นปัญหาในช่วงบั้นปลายชีวิต

 

ข้อดีของเงินบำนาญ

  • ความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว : การได้รับเงินบำนาญเป็นงวด ๆ ช่วยให้มีรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว ผู้รับไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดรายได้ในอนาคต และสามารถวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างมั่นใจ
  • ลดความเสี่ยงในการบริหารเงิน : การได้รับเงินเป็นงวด ๆ ช่วยลดความเสี่ยงในการบริหารเงิน เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดการเงินก้อนใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาทางการเงินได้
  • สวัสดิการหลังเกษียณ : เงินบำนาญเป็นสวัสดิการที่ช่วยให้ผู้รับมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณอายุ ไม่ต้องพึ่งพาครอบครัวหรือผู้ดูแลมากเกินไป

 

ข้อเสียของเงินบำนาญ

  • ขาดความยืดหยุ่นในการใช้จ่าย : การได้รับเงินเป็นงวด ๆ อาจทำให้ผู้รับขาดความยืดหยุ่นในการใช้จ่าย โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการใช้เงินก้อนใหญ่ในทันที
  • ผลตอบแทนอาจไม่สูง : เงินบำนาญมักจะมีผลตอบแทนที่คงที่และไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น
  • ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย : ระบบเงินบำนาญอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของรัฐบาลหรือองค์กร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนเงินที่ได้รับหรือเงื่อนไขการรับเงิน

 

สิ่งสำคัญในการเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญขึ้นอยู่กับความต้องการและสภาพการเงินของแต่ละบุคคล หากต้องการความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายและมีความสามารถในการบริหารเงินก้อนใหญ่ การรับเงินบำเหน็จอาจเป็นตัวเลือกที่ดี แต่ถ้าคุณต้องการความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวและลดความเสี่ยงในการบริหารเงิน การรับเงินบำนาญอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากกว่า

 

การวางแผนการเงินที่ดีและการทำความเข้าใจข้อดีและข้อเสียของแต่ละประเภทจะช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสถานการณ์การเงินและเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ

 

วิธีคิดเงินบำนาญ

สำหรับพนักงานบริษัทหรือผู้ประกันตนที่อยู่ในประกันสังคม จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมในประกันสังคมมาตรา 33 เมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง มีสิทธิ์ที่จะยื่นขอรับเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคมได้โดยมีเงื่อนไขในการได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญดังนี้

  • หากผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับ “เงินบำเหน็จ”
  • ส่วนผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน (15ปี ) ขึ้นไป จะได้รับ “เงินบำนาญ” ที่ประกันสังคมจ่ายให้เป็นรายเดือนตลอดชีวิต

 

ดังนั้นเงื่อนไขสำคัญที่จะกำหนดว่าจะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญก็คือ “ระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบในระบบประกันสังคม” ซึ่งจะมีรายละเอียดปลีกย่อยในการรับเงินออกไปในแต่ละบบ

 

กรณีบำเหน็จชราภาพสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี ดังนี้ :

กรณีจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน : ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตนที่จ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคม ไม่รวมส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบ

  • ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมาตรา 33 อายุ 55 ปี และสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ขณะส่งเงินสมทบได้ 10 เดือน และสมมติว่าส่งเงินสมทบเดือนละ 300 บาท ในที่นี้จะได้เงินบำเหน็จชราภาพประกันสังคม จำนวน 3,000 บาท (300 บาท x 10 เดือน)

 

กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน : ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบส่วนของผู้ประกันตนและส่วนของนายจ้างที่จ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนประจำปีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนอัตราผลประโยชน์ตอบแทนส่วนนี้จะทำให้เงินบำเหน็จชราภาพแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

 

กรณีบำนาญชราภาพสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีเช่นกัน :

กรณีจ่ายเงินสมทบมา 180 เดือนพอดี : ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนตลอดชีวิต คิดเป็นอัตราร้อยละ 20 ของเงินค่าจ้าง (ไม่เกิน 15,000 บาท) เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

  • ตัวอย่างเช่น ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้ายรวมกันหาร 60) แล้วนำไปคุณ 20% จะได้เงินบำนาญชราภาพที่จะได้รายเดือน เช่น ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายได้ 13,000 บาท คูณ 20% = 13,000 x 20% = 2,600 บาท กรณีนี้ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละ 2,600 บาท ไปจนตลอดชีวิต

 

กรณีจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน : อัตราการจ่ายเงินบำนาญจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุกๆ 12 เดือนที่จ่ายเกิน

  • ตัวอย่างเช่น ตัวอย่างเช่น นาย A ผู้ประกันตนทำงานได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท มาตลอด และส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง คำนวณโดยแบ่งดังนี้ ระยะเวลาที่สมทบ 15 ปี หรือ 180 เดือน (แรก) ได้อัตราเงินบำนาญ 20% ระยะเวลาที่สมทบ 5 ปี (หลัง) ได้อัตราเงินบำนาญ 7.5% (1.5% (ปรับเพิ่ม) × 5 ปี รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปีเฉลี่ยจะได้ที่ 27.5%

ดังนั้นนาย A จะได้รับเงินบำนาญรายเดือน = 27.5% ของ 15,000 บาท = 4,125 บาท/เดือนจนตลอดชีวิต

 

สำหรับข้าราชการผู้ที่ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัทที่อยู่ในระบบประกันสังคม

กลุ่มนี้จะมีรายละเอียดแตกต่างออกไปโดยที่จะมีสวัสดิการณ์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ โดยไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่เสริมระบบบำเหน็จบำนาญเดิมเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเงินแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการโดยมีวัตถุประสงค์

  • เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญ : กบข. จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ
  • ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก : เพื่อสร้างวินัยการออมและให้ข้าราชการมีเงินออมเพียงพอเมื่อเกษียณอายุ
  • จัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก : เช่น การจ่ายเงินสดและผลประโยชน์คืนแก่สมาชิกเมื่อพ้นจากสมาชิกภาพ

 

เมื่อข้าราชการออกจากงานจะได้รับเงิน 2 ส่วน คือ 

1.เงินบำเหน็จบำนาญ : คำนวณจากเงินงบประมาณ โดยมีสูตรดังนี้

  • บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย * อายุราชการ (ปี)
  • บำนาญ = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย * อายุราชการ (ปี) / 50ทั้งนี้ เงินจำนวนนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

 

2. เงินก้อนจากกองทุน : ซึ่งประกอบด้วย

  • เงินสะสมหรือเงินออมของสมาชิกที่ถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือน
  • เงินสมทบหรือรางวัลการออมที่รัฐให้
  • เงินประเดิมและเงินชดเชยที่รัฐให้กับสมาชิกเพื่อชดเชยสูตรบำนาญที่ได้น้อยลง (เฉพาะกรณีที่เลือกรับบำนาญเท่านั้น)
  • ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการบริหารเงินดังกล่าว

 

ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการบริหารเงินบำนาญ

 

ถึงแม้ว่าทั้งพนักงานเอกชนในระบบประกันสังคมและข้าราชการที่มีระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจะมีแหล่งเงินได้สำหรับใช้ชีวิตยามเกษียณแต่จำนวนเงินที่ได้รับอาจไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณนั้นแล้วสิ่งสำคัญคือการเตรียมวางแผนการเงินตั้งแต่อายุยังน้อยเพราะถึงแม้ว่าจะมีเงินสะสมเพียงพอระดับหนึ่งแล้ว แต่ราคาสินค้าและบริการจะสูงขึ้นตามเงินเฟ้อประกอบกับค่าใช้จ่ายในยามที่อายุมากมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าดูแลรักษาสุขภาพ การเริ่มต้นออมเงินและลงทุนเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยสนับสนุนและทำให้สามารถใช้ชีวิตเกษียณจากเงินบำเหน็จและเงินบำนาญได้อย่างมีความสุข

 

หมายเหตุ

คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง และ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Merkle Capital คือผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานก.ล.ต. บริษัทให้การดูแลและบริหารเงินลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลายโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและการบริหารจัดการ