Metadata คืออะไร? สรุปให้แล้วในที่เดียวเข้าใจง่าย

มิถุนายน 25, 2024

thumbnail

Metadata คืออะไร ?

 

Metadata

 

Metadata คือข้อมูลที่ใช้ในการอธิบายหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลอื่น ๆ (Data About Data) เป็นข้อมูลเสริมที่ช่วยให้เราสามารถเข้าใจ บริหารจัดการ และใช้ข้อมูลหลักได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ในไฟล์ภาพถ่าย Metadata อาจรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับวันที่และเวลาที่ถ่ายภาพ, การตั้งค่ากล้อง (เช่น ความละเอียด, ค่า ISO), สถานที่ที่ถ่ายภาพ (ถ้ามีการเปิดใช้งาน GPS) เป็นต้น ในโลกบล็อกเชน Metadata คือข้อมูลที่ใช้ในการอธิบายและให้บริบทเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกรรมหรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่บนบล็อกเชน ข้อมูลเหล่านี้สามารถช่วยในการระบุและจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คำอธิบายเพิ่มเติมของ 2 ประเภทหลัก ดังนี้ 

 

On-chain Metadata: การจัดเก็บ Metadata บนบล็อกเชนโดยตรง ซึ่งรวมถึงข้อมูลเช่น Hash ของธุรกรรม, ที่อยู่ของผู้ส่งและผู้รับ, จำนวนเงินที่ถูกโอน และรายละเอียดของสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ข้อดีของการจัดเก็บแบบออนเชนคือมีความปลอดภัยสูงและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดได้รับการบันทึกลงในบล็อกเชนซึ่งมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดข้อมูลและค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการจัดเก็บแบบออฟเชน เนื่องจากพื้นที่บล็อกเชนมีจำกัดและการเขียนข้อมูลบนบล็อกเชนต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม 

 

Off-chain Metadata: การจัดเก็บ Metadata นอกบล็อกเชน เช่น ในระบบคลาวด์หรือระบบไฟล์แบบกระจาย (Distributed File Systems) การเก็บข้อมูลแบบนี้สามารถเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ได้และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการจัดเก็บแบบออนเชน ข้อมูลที่จัดเก็บออฟเชนยังคงสามารถเข้าถึงได้ผ่านลิงก์หรือการอ้างอิงที่บันทึกอยู่บนบล็อกเชน ข้อดีคือความยืดหยุ่นในการจัดการข้อมูลและการลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมบนบล็อกเชน แต่มีความปลอดภัยน้อยกว่าและต้องพึ่งพาระบบภายนอกในการจัดเก็บข้อมูล หากระบบภายนอกมีปัญหาหรือถูกโจมตี ข้อมูลก็อาจสูญหายหรือถูกแก้ไขได้ 

 

ทั้งสองวิธีมีข้อดีและข้อเสียของตนเอง และการเลือกใช้ขึ้นอยู่กับลักษณะและความต้องการของข้อมูลที่ต้องการจัดเก็บในบล็อกเชน

การจัดเก็บ Metadata แบบออนเชนและแบบออฟเชน

Metadata

 

จากคำอธิบายด้านบนเราจะเห็นได้ว่ามีการจัดเก็บ Metadata ทั้งแบบออนเชนและแบบออฟเชน ที่จริงแล้วบล็อกเชนไม่ได้ต่างกับการเก็บข้อมูลของ Database หรือออฟเชน เป็นเทคโนโลยีเก็บข้อมูลเหมือนกัน แต่มีการจัดเรียงและความปลอดภัยที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง

 

การจัดเก็บ Metadata แบบออนเชน (On-chain) ลักษณะการจัดเก็บคือ Metadata ถูกบันทึกลงในบล็อกเชนโดยตรง ซึ่งหมายความว่าข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บรักษาและตรวจสอบได้ผ่านบล็อกเชน ข้อมูลนี้จะถาวรและไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส

 

ในทางเดียวกันการจัดเก็บ Metadata แบบออฟเชน (Off-chain) ลักษณะการจัดเก็บคือ Metadata ถูกเก็บในระบบภายนอกบล็อกเชน เช่น เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว, ระบบคลาวด์, หรือระบบกระจายข้อมูล (Distributed File Systems) เช่น IPFS (InterPlanetary File System) บล็อกเชนจะเก็บเฉพาะลิงก์หรือข้อมูลระบุตำแหน่งที่จัดเก็บ Metadata

 

ทั้งสองอย่างจะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป เช่น (Validator Node คือสิ่งที่เก็บข้อมูลและยืนยันข้อมูลออนเชน)

 

  • ออฟเชนจะเร็วกว่าออนเชนเพราะออนเชน ต้องได้รับการยืนยันจากหลาย Validator Node ตาม Consensus Mechanism ทำให้ต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลมากกว่า

 

  • ออฟเชนจะมีต้นทุนที่น้อยกว่าออนเชนเพราะออนเชน จำเป็นจะต้องมีหลาย Validator Node บางระบบต้องใช้ระบบแรงจูงใจ หรือบางต้องหาคนที่ไว้ใจได้มาร่วมเป็นคนยืนยันระบบ

 

อย่างไรก็ตามออนเชน มีข้อดีที่แตกต่างกับออฟเชนชัดเจนอยู่อย่างหนึ่งคือ ความไว้ใจในระบบการเก็บข้อมูล ซึ่งออฟเชนไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ทำให้ต้องมีตัวกลางที่ไว้ใจได้ขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านั้น โดยคำ้ชื่อเสียงของตัวกลางกับความไว้ใจในระบบออฟเชน แต่นั้นก็มีคำถามไปถึงความน่าเชื่อถือของตัวกลางอีก

 

“เราจะเชื่อใจคนเก็บข้อมูลว่าเขาจะไม่แก้ไขข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองได้อย่างไร ?”

 

จากคำถามความเชื่อใจข้างบน เรามาดูกรณีตัวอย่างของปัญหาของความเชื่อใจนี้กันดีกว่า ตัวอย่างแรกที่เรารู้จักกันดีอย่างการล่มสลายของ FTX ก็เป็นหนึ่งอย่างที่เป็นปัญหาของ Centralize Ledger ถึงแม้ตัวสินทรัพย์จะอยู่ในรูปของสินทรัพย์ดิจิทัลและอยู่บนบล็อกเชนก็ตาม แต่เงินที่ฝากไว้ใน Centralize Exchange (CEX) รวมไปถึงการทำงานหลังบ้าน CEX ก็ทำโดย Database อยู่ดี เราต้องใช้ความเชื่อใจ CEX ว่าเขาจะไม่นำสินทรัพย์ของเราไปใช้ทำอะไรต่อ ต้องเชื่อใจว่า Reserve ที่เขาบอกว่าเขามีนั้นมีจริงๆ และมีเพียงพอสำหรับทุกคนที่ต้องการจะถอน ซึ่งเราก็รู้กันว่า FTX โกหกว่า Reserve ที่ลูกค้าฝากไว้อยู่ครบ และได้นำสินทรัพย์ของเราไปหมุนที่ Alameda

 

ถ้าลองเปลี่ยนคำถามเป็น “เราไม่เชื่อใจใครเลยจะได้ไหม ?” คำตอบนั่นคือออนเชนที่เราไม่จำเป็นจะต้องเชื่อใจตัวกลาง แต่เปลี่ยนเป็นเชื่อใจระบบแทน 

 

แล้วใช้อันไหนดีกว่ากันคำตอบคือขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานตัวอย่างเช่น 

 

  • On-chain: มักใช้ในกรณีที่ข้อมูลต้องการความน่าเชื่อถือสูงและไม่ต้องการการแก้ไข เช่น ข้อมูลการทำธุรกรรม, สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) 

 

  • Off-chain: มักใช้ในกรณีที่ต้องการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่หรือข้อมูลที่อาจต้องมีการแก้ไขในภายหลัง เช่น ข้อมูลรูปภาพ, วิดีโอ, หรือข้อมูลรายละเอียดที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญของธุรกรรม 

 

การเลือกว่าจะใช้การจัดเก็บ Metadata แบบออนเชนหรือออฟเชนนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะและความต้องการของข้อมูล รวมถึงงบประมาณและความสำคัญของความปลอดภัยและความโปร่งใสของข้อมูลนั้นๆ

ตัวอย่างการใช้ Metadata ในธุรกรรมบล็อกเชน

Metadata

 

บนบล็อกเชน Metadata เก็บข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้

 

  • ธุรกรรม (Transactions): ในบล็อกเชน เช่น Bitcoin หรือ Ethereum, Metadata อาจประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับเวลาและวันที่ของธุรกรรม, ผู้ส่ง, ผู้รับ, จำนวนเงินที่โอน, และค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม นอกจากนี้ยังสามารถมีข้อมูลเพิ่มเติมเช่น หมายเหตุหรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมนั้น ๆ 

 

  • สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets): สำหรับโทเค็นที่ใช้ในบล็อกเชน เช่น NFTs (Non-Fungible Tokens), Metadata สามารถระบุคุณสมบัติของโทเค็นนั้น ๆ เช่น ชื่อ, รายละเอียด, ลิงก์ไปยังไฟล์ภาพหรือวิดีโอ, ข้อมูลของผู้สร้าง, และคุณสมบัติเฉพาะอื่น ๆ Metadata ของ NFTs ช่วยในการยืนยันความเป็นเจ้าของและความเป็นเอกลักษณ์ของสินทรัพย์ดิจิทัล 

 

  • สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts): ในบล็อกเชนอย่าง Ethereum, Metadata สามารถใช้เพื่ออธิบายการทำงานของสัญญาอัจฉริยะ เช่น ฟังก์ชัน, อินพุต, เอาต์พุต, และเงื่อนไขการทำงาน ข้อมูลนี้ช่วยให้นักพัฒนาและผู้ใช้สามารถเข้าใจและใช้สัญญาอัจฉริยะได้อย่างถูกต้อง 

 

  • การติดตามและการตรวจสอบ (Tracking and Auditing): Metadata ช่วยในการติดตามและตรวจสอบกิจกรรมบนบล็อกเชน เช่น การตรวจสอบเส้นทางของสินทรัพย์จากผู้ส่งไปยังผู้รับ, การบันทึกเวลาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการมี Metadata ที่ครบถ้วนช่วยให้การตรวจสอบความโปร่งใสและความถูกต้องของข้อมูลบนบล็อกเชนง่ายขึ้น 

 

ตัวอย่าง Metadata ของบล็อกเชนในโลกความจริง 

 

  • ออนเชนไว้สำหรับ Supply Chain Management ที่แก้ปัญหาเก็บข้อมูลแยกกัน โดยมี บล็อกเชนกลางให้ทุกคนอัพข้อมูลลงมาใช้ร่วมกันได้
    • Supply Chain บางอย่างเป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อน บางครั้งไม่สามารถฝากข้อมูลสำคัญเหล่านี้ไว้กับคนอื่นได้

 

  • ออนเชนไว้สำหรับ Cross Border Payment หรือ Wholesale Central Bank Digital Currencies (wCBDCs) ที่แก้ปัญหาการโอนเงินระหว่างประเทศ ระหว่างธนาคาร
    • ในการโอนเงินข้ามประเทศใช้ความเชื่อใจกันระหว่างธนาคาร หากธนาคารไม่รู้จักกันก็ต้องโอนผ่านหลายๆ ธนาคารเพื่อให้ไปถึงธนาคารปลายทาง (A → B → C → D) 
    • หากใช้ บล็อกเชนกลางก็สามารโอนเงินให้กันได้เลย (A → D)

 

  • Self Custody บล็อกเชนสามารถเก็บสินทรัพย์ได้ด้วยตนเองไม่จำเป็นต้องพึ่งตัวกลางดูแลสินทรัพย์ให้เรา

 

  • Tokenization หรือ “การเปลี่ยนสินทรัพย์และเครื่องมือทางการเงินในโลกจริงให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน โดยการสร้างโทเคนเพื่อเป็นตัวแทนของสิทธิหรือทรัพย์สินต่างๆ มีวัตถุประสงค์ต่างๆ

 

  • บล็อกเชนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถ้าดูจากตัวอย่างที่ยกมามีแต่ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงิน หลังจากนี้จะพาไปรู้จักกับระบบบล็อกเชนที่เราไม่ค่อยได้เห็นกันคือระบบบล็อกเชนที่ใช้ใน Healthcare และ Supply Chain โดยการสร้างบล็อกเชนมาเป็นที่เก็บข้อมูลกลางที่ให้ทุกคนเข้ามาเก็บข้อมูลได้
    • บริษัทยาขนาดใหญ่อย่าง Astrazeneca, Pfizer, j&j และอื่นๆ ได้ใช้ PharmaLedger ในการดูแล Product line, Decentralised trails และ Supply chain ผ่าน Consensys’ Quorum (Private Blockchain)
    • บริษัทขนส่งและค้าปลีกอย่าง Daimler, FedEx, Uber, UBS และอื่น ๆ ได้สร้าง Blockchain in Transport Alliance ในการดูแลห่วงโซ่อุปทาน ผ่าน Hyperledger (Private Blockchain)

สรุป

Metadata คือข้อมูลที่ใช้ในการอธิบายหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลอื่น ๆ (Data About Data) ซึ่งช่วยให้เราสามารถเข้าใจและจัดการข้อมูลหลักได้ดีขึ้น ในบริบทของบล็อกเชน Metadata สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก On-chain Metadata และ Off-chain Metadata ซึ่ง On-chain Metadata คือข้อมูลที่บันทึกลงในบล็อกเชนโดยตรง เช่น Hash ของธุรกรรม, ที่อยู่ของผู้ส่งและผู้รับ, จำนวนเงินที่ถูกโอน, และรายละเอียดของสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) การจัดเก็บแบบนี้มีความปลอดภัยสูงและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดและค่าใช้จ่าย ขณะที่ Off-chain Metadata คือข้อมูลที่เก็บนอกบล็อกเชน เช่น ในระบบคลาวด์หรือระบบไฟล์แบบกระจาย (Distributed File Systems) เช่น IPFS ซึ่งสามารถจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ได้และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า แต่มีความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือน้อยกว่า On-chain Metadata โดยทั่วไปการเลือกใช้แบบใดจะขึ้นอยู่กับความต้องการและลักษณะเฉพาะของข้อมูลนั้นๆ

 

หมายเหตุ

คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง และ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Merkle Capital คือผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานก.ล.ต. บริษัทให้การดูแลและบริหารเงินลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลายโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและการบริหารจัดการ