มิถุนายน 19, 2024
ระบบบล็อกเชน (Blockchain) คำนี้คงเป็นคำคุ้นหูที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับชีวิตระบบการทำงานในทุกอุตสาหกรรม เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมที่มักจะถูกพูดถึงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหนีไม่พ้น Blockchain กับ ธนาคาร ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งการเกิดขึ้นของสินทรัพย์สำหรับการลงทุนรูปแบบใหม่ และการพัฒนาระบบชำระเงิน
ก่อนที่จะเข้าใจบทบาทและความสัมพันธ์ของ Blockchain กับ ธนาคาร สิ่งแรกที่ควรทำความเข้าใจ คือ การทำงานของระบบบล็อกเชน ว่ามีการทำงานอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
Blockchain มีรูปแบบการเก็บและส่งต่อข้อมูลแบบไม่ต้องมีคนกลาง หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า เทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology) ซึ่งเป็นรูปแบบการบันทึกข้อมูลโดยใช้หลักการเข้ารหัส (Cryptography) ร่วมกับกลไกฉันทามติ (Consensus) ที่แตกต่างกัน โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกใน Blockchain นั้นจะสามารถทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยาก ช่วยเพิ่มความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล นั่นทำให้หนึ่งในตัวอย่างการใช้งานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การประยุกต์ใช้จุดเด่นของ Blockchain กับ ธนาคารโดยเฉพาะระบบการชำระเงินและสกุลเงินดิจิทัล
แล้ว Blockchain เกี่ยวข้องอะไรกับสกุลเงินดิจิทัล ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมาสกุลเงินดิจิทัลได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้นจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคา Bitcoin และ Ethereum ซึ่งเกิดจากหลากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องการพัฒนาที่ดีขึ้นของเทคโนโลยี รวมถึงตัวอย่างการใช้งานในโลกแห่งความจริงมากขึ้น สิ่งที่เชื่อมต่อระหว่าง Blockchain และสกุลเงินดิจิทัล คือพื้นฐานของการทำงานของสกุลเงินดิจิทัลที่จำเป็นต้องใช้หลักการเข้ารหัส โดยไม่มีตัวกลาง และต้องกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายต่าง ๆ ทำให้ระบบบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของสกุลเงินดิจิทัล
โดยทั่วไประบบบล็อกเชนมีทั้งหมด 4 ประเภท แต่บางแหล่งอาจบอกว่ามี 3 ประเภท ได้แก่ Public Blockchain, Private Blockchain, Consortium Blockchain และ Hybrid Blockchain
ด้วยการต่อยอดเทคโนโลยี Blockchain ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการการเงินคือการผสมผสานเทคโนโลยี Blockchain กับ ธนาคารทำให้เกิดโลกการเงินที่มีระบบการเงินที่สามารถลดบทบาทของตัวกลางหรืออาจถึงขั้นไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางได้เลย แต่จะมีเหตุผลอะไรบ้างที่ Blockchain จะสามารถช่วยพัฒนาระบบการเงินยุคปัจจุบันได้
Transprency เพิ่มความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง อุตสาหกรรมการเงินมีข้อจำกัดเรื่องความน่าเชื่อถือที่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องเชื่อใจตัวกลางอย่างธนาคารโดยที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือยากต่อการขอเข้าไปตรวจสอบ จากเหตุผลด้านความปลอดภัยของระบบธนาคารที่ต้องจำกัดสิทธิไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าถึงข้อมูลได้
แต่ด้วยระบบบล็อกเชนที่ทำงานด้วยระบบจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่จะถูกกระจายไปบันทึกในหลาย ๆ โหนด (Node) ซึ่งสามารถเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบธุรกรรมในระบบได้ โดยแต่ละรายการสามารถตรวจสอบและยืนยันได้จากหลายฝ่าย นั่นหมายความว่า ธุรกรรมทางการเงินทุกอย่างจะมีความโปร่งใสและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการทุจริต และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบบการเงิน
Reduce Cost ลดต้นทุนในการทำธุรกรรมของ Blockchain กับ ธนาคาร ธุรกรรมทางการเงินจะเกิดขึ้นแบบตัวต่อตัว (Peer-to-Peer) โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางที่ให้บริการทางการเงินหลายต่อ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับระบบการเงินแบบเดิมที่ต้องพึ่งพาธนาคารและสถาบันการเงินกลาง
อย่างที่รู้กันว่าเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น จะช่วยทำให้สามารถลดต้นทุนของระบบต่าง ๆ ได้มากขึ้น จากการที่สามารถรองรับจำนวนการทำธุรกรรมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากการลดระยะเวลาหรือการลดการใช้ทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็น Front Office, Mid Office และ Back Office ซึ่งส่วนนี้จะส่งผลดีอย่างมากสำหรับองค์กรที่มีระบบที่ต้องรองรับการใช้งานจำนวนมาก
Efficiency ความรวดเร็วในการทำธุรกรรม Blockchain ช่วยให้ธุรกรรมทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยไม่ต้องพึ่งพาเวลาทำการของธนาคาร ธุรกรรมสามารถดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง และการชำระเงินระหว่างประเทศก็จะมีความรวดเร็วมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เนื่องจากโดยปกติแล้ว ช่วงเวลาประมาณ 23:00 ถึง 03:30 น. (ช่วงเวลาขึ้นอยู่กับธนาคารผู้ให้บริการ) ของทุกวันเป็นช่วงระบบประมวลผลของธนาคาร ที่ธนาคารแต่ละแห่งต้องทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ส่งผลให้ช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีการจำกัดการให้บริการในบางอย่าง ซึ่งธนาคารได้แนะนำให้เว้นช่วงการทำรายการและเข้าทำรายการใหม่อีกครั้งหรือหลีกเลี่ยงการทำ
ธุรกรรมช่วงเวลาดังกล่าว
Programable การสามารถใส่เงื่อนไขในโปรแกรมได้ผ่านการใช้เทคโนโลยี Smart Contract ที่ทำงานอยู่ในระบบซึ่งเป็นการทำให้ Blockchain กับ ธนาคาร พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผ่านการกำหนดสัญญาด้วย Smart Contract ที่เป็นคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ สามารถออกแบบและกำหนดเงื่อนไข ที่ไม่สามารถแก้ไขได้และสามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบเงื่อนไขการทำงานได้อย่างโปร่งใส เปิดเผย และมั่นใจได้ว่าโปรแกรมจะทำงานตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางมาช่วยดำเนินการหรือตรวจสอบ
Boarderless ด้วยเทคโนโลยีระบบการเงินในปัจจุบัน ตามปกติแล้วการทำธุรกรรมจำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางอย่างธนาคาร ตัวอย่างเช่นหากต้องการใช้บริการโอนเงินระหว่างบัญชีธนาคารเดียวกัน ธนาคารที่เป็นตัวกลางที่ให้บริการต้องทำการตรวจสอบยอดเงินคงเหลือของผู้ที่ต้องการโอน ตรวจสอบเลขที่บัญชีของผู้รับเงินว่ามีตัวตนไหม ก่อนจะทำการอัพเดทยอดเงินคงเหลือของบัญชีในระบบของธนาคารให้เป็นปัจจุบัน
ขั้นตอนนี้จะยิ่งซับซ้อนและกินระยะเวลามากขึ้นเมื่อบัญชีผู้ต้องการโอนเงินและผู้รับเงินใช้บริการคนละธนาคารกัน โดยแต่ละธนาคารจำเป็นต้องทำการตรวจสอบข้อมูลภายในระบบธนาคารของตนเองก่อนจะอัพเดทยอดเงินคงเหลือของบัญชีในระบบให้ตรงกันทั้งในระบบของ 2 ธนาคาร
แต่ในชีวิตจริงเรื่องราวจะซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากเราอยู่ในยุค Globalization ที่มีธุรกรรมระหว่างประเทศเกิดขึ้นตลอดเวลาทำให้ธนาคารในประเทศจำเป็นต้องเชื่อมต่อระบบกับธนาคารในต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีการใช้ระบบสื่อสารกลางที่เชื่อมต่อแต่ละธนาคารเข้าด้วยกันอย่าง SWIFT หรือชื่อเต็มว่า Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication เป็นระบบการสื่อสารสำหรับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นในปี 1973 จากความร่วมมือของธนาคาร 239 แห่งจาก 15 ประเทศทั่วโลก เพื่อแก้ไขปัญหาการสื่อสารระหว่างธนาคารในการส่งข้อความข้ามพรมแดน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศเบลเยียม
แต่ด้วยการมาถึงของเทคโนโลยี Blockchain กับ ธนาคารพาณิชย์ ทำให้ตัวกลางทางการเงินถูกลดบทบาทลง พร้อมทั้งทำให้ข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบการเงินลดลง โดยผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคารกับผู้ให้บริการในแต่ละประเทศ แค่เพียงสร้าง Wallet หรือกระเป๋าเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล กับระบบเครือข่ายที่ต้องการจากนั้นก็สามารถทำธุรกรรมร่วมกับผู้ที่อยู่ในเครือข่ายได้ทั่วโลก
อย่างไรก็ตามกำแพงสำคัญที่ผู้พัฒนาระบบบล็อกเชนทั่วโลกกำลังก้าวข้ามคือข้อจำกัดของระบบที่เรียกว่า “Blockchain Trilemma” เมื่อใดที่สามารถก้าวข้ามกำแพงนี้ไปได้ การพัฒนาระหว่าง Blockchain กับ ธนาคารจะเข้าสู่ Mass Adoption อย่างก้าวกระโดดก็ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว Blockchain Trilemma คืออะไร?
Blockchain Trilemma คือแนวคิดที่กล่าวถึงปัญหาและความท้าทายในการสร้างระบบบล็อกเชนที่ต้องสามารถสร้างและต้องบรรลุได้ครบทั้งสามปัจจัยสำคัญในเวลาเดียวกัน โดยปกติแล้ว บล็อกเชนมักต้องเลือกระหว่างสองในสามปัจจัยนี้ ได้แก่
Decentralization การกระจายอำนาจการควบคุมเครือข่ายให้กับผู้ใช้งานหลายคนแทน ที่จะให้มีผู้ควบคุมเพียงไม่กี่ราย การกระจายศูนย์ช่วยเพิ่มความยุติธรรมและความโปร่งใส แต่บางครั้งก็อาจทำให้การประมวลผลธุรกรรมช้าลง จากการที่ต้องกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายจำนวนมาก ซึ่งผู้สร้างต้องพิจารณาจากเป้าหมายกลุ่มผู้ใช้งานและอุตสาหกรรมที่ระบบบล็อกเชนต้องการกลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐาน บางอุตสาหกรรมจำเป็นต้องทำธุรกรรมให้เสร็จภายในหลักนาที วินาที หรือน้อยกว่าวินาที
Security การปกป้องเครือข่ายจากการโจมตีและการทุจริตต่าง ๆ ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความน่าเชื่อถือของบล็อกเชน แต่การเพิ่มความปลอดภัยมักมาพร้อมกับต้นทุนที่สูงขึ้นและการลดทอนความสามารถในการปรับขนาด เพราะหากระบบความปลอดภัยสูงยากต่อการโจมตี ก็ย่อมที่จะยากต่อผู้ใช้งานในการเข้ามาใช้งาน รวมถึงผู้พัฒนา DApps ในเครือข่ายที่มีขั้นตอนเพิ่มขึ้น
Scalability ความสามารถในการรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมากในเวลาเดียวกัน โดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพของเครือข่ายลดลง ความสามารถในการปรับขนาดที่ดีจะทำให้บล็อกเชนสามารถใช้งานได้ในระดับโลก แต่การบรรลุข้อนี้อาจทำให้ต้องลดทอนการกระจายศูนย์หรือความปลอดภัย
การแก้ไข Blockchain Trilemma ยังเป็นความท้าทายที่นักพัฒนาบล็อกเชนกำลังพยายามค้นหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้ได้ระบบที่สมดุลและมีประสิทธิภาพในทุก ๆ ด้าน
Blockchain คือเทคโนโลยีพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงวิธีการบันทึกและแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยระบบนี้ประกอบด้วย 4 ส่วนหลักที่ทำงานร่วมกันอย่างลงตัว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้น
กล่องเก็บข้อมูล (Block):
กล่องข้อมูล หรือ Block คือที่เก็บรวบรวมข้อมูลของธุรกรรมในแต่ละรอบ เมื่อมีการทำธุรกรรมใหม่เกิดขึ้น ระบบจะบรรจุข้อมูลเหล่านั้นลงใน Block ใหม่ ๆ ซึ่ง Block แต่ละใบจะถูกแจกจ่ายไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเครือข่าย จุดเด่นคือข้อมูลที่ถูกบันทึกใน Block ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ผู้ใช้สามารถมั่นใจในความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูลที่ได้รับ
การเชื่อมโยงกล่องข้อมูล (Chain):
หลังจากที่มีการสร้าง Block ใหม่ ๆ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเป็นห่วงโซ่ หรือ Chain ผ่านกระบวนการ Hash Function ซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนลายนิ้วมือของข้อมูลในแต่ละ Block ค่าที่ได้จาก Hash มีความเฉพาะตัวและแทบไม่มีโอกาสซ้ำกัน จึงสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานยืนยันความถูกต้องและเป็นตัวแทนของข้อมูลต้นฉบับได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการนี้ช่วยให้เกิดความโปร่งใสและป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลในระบบ
การตกลงร่วมกัน (Consensus):
หนึ่งในหัวใจหลักของ Blockchain คือความสามารถในการบรรลุข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ใช้งานในเครือข่าย (Consensus) ผ่านอัลกอริทึมต่าง ๆ เช่น Proof of Work (PoW) หรือ Proof of Stake (PoS) วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจและยอมรับกฎเกณฑ์เดียวกันในการดำเนินการระบบ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมหรือการเพิ่ม Block ใหม่เข้าไปใน Chain สิ่งนี้ช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยให้กับระบบอย่างยิ่ง
การตรวจสอบและยืนยัน (Validation):
ขั้นตอนสุดท้ายคือการตรวจสอบ (Validation) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละรอบของการทำธุรกรรม เมื่อมีการสร้าง Block ใหม่ ระบบจะต้องมีการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลเหล่านั้นจากผู้ใช้คนอื่น ๆ ในเครือข่าย ผ่านกระบวนการที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ การตรวจสอบนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ข้อมูลธุรกรรมที่ถูกบันทึกลงใน Block เป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ จากนั้น Block ที่ได้รับการตรวจสอบแล้วก็จะถูกนำมาเชื่อมโยงกับ Chain เดิม ทำให้เกิดระบบฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่ไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้ง่าย
หากพูดถึงตัวการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ในระบบมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นการใช้ Blockchain กับ ธนาคาร ซึ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain มีขอบเขตที่กว้างมากซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการโอนเงิน ระบบชำระเงิน การนำสินทรัพย์ในโลกปัจจุบันเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างการทำ Tokenization ด้วยลักษณะเด่นของ Blockchain ที่เป็นระบบกระจายข้อมูลที่มีความโปร่งใสและปลอดภัยสูง จึงทำให้มีการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ดังนี้
โครงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารพาณิชย์ในการพัฒนา โครงการสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) เป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย CBDC นั้นเป็นเสมือนเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ รักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ โดยทั้งหมดนี้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่ได้มีการต่อยอดเป็นโครงการย่อยอย่าง
โครงการ mBridge หรือ "Multiple-Central Bank Digital Currency Bridge" เป็นความร่วมมือในการพัฒนา Wholesale CBDC เพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยมีการศึกษาร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA), สถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI), ธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) และศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BISIH) ในฮ่องกง
โครงการ mBridge เป็นการทดลองสร้างระบบที่สถาบันการเงินของแต่ละประเทศสามารถเชื่อมต่อกันโดยตรงตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง (Corresponding Bank) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความเสี่ยงในการชำระเงิน (Settlement Risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) และความเสี่ยงในการดำเนินงาน (Operational Risk) ระบบนี้จะทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ลดลง จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศสามารถลดลงเหลือเพียงไม่กี่วินาที เมื่อเทียบกับระบบปัจจุบันที่ใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน
นอกจากนั้นแล้วในประเทศไทยได้มีการนำ Blockchain กับ ธนาคารพาณิชย์มาร่วมกันจนก่อให้เกิดโครงการ Retail CBDC หรือ เงินบาทที่เปลี่ยนรูปแบบจากธนบัตรมาเป็นรูปแบบดิจิทัลซึ่งออกโดยธนาคารกลาง เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนสามารถเข้าถึงและตอบสนองต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินภายใต้การเงินอนาคตที่เข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
โดยปัจจุบันได้มีการทดสอบใน Sandbox โดยนำมาใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะ และในกลุ่มผู้ใช้งานประมาณ 10,000 ราย ที่กำหนดโดย ธปท. และภาคเอกชนที่ร่วมทดสอบ 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการทดสอบนี้จะนำเทคโนโลยีของบริษัท Giesecke+Devrient4 มาประยุกต์ใช้ โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566
คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง และ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
Disclaimer